ติดต่อรับฤกษ์

ติดต่อ

พิธีตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ พระภูมิชัยมงคล

อาจารย์เทียน ธนกร

ผู้วางฤกษ์มงคล ตามหลักสัตตเลขและโหราศาสตร์ไทย

การตั้งศาลพระภูมิ

ศาลพระภูมิประจำเคหะสถานที่อยู่ นิยมตั้งทำขึ้นตามประเพณีของไทยเรา เพื่อเคารพแก่เจ้าที่ผู้อารักษ์อยู่ ณ ที่นั้น และขอความคุ้มครองป้องกันสรรพภัยทั้งปวงให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัย แต่ก็มิได้บังคับไว้ประการใดว่าจักต้องตั้งศาลพระภูมิเสมอไป หากไม่ตั้งก็อย่าตั้ง ถ้าจะตั้งก็ต้องทำให้ถูกตามพิธี จึงจะไม่มีโทษ

ฤกษ์ตั้งศาลพระภูมิ

ควรเลือกหาวันฤกษ์งามยามดี โดยมีกำหนดว่า ถ้าปีใดวันพฤหัสบดีไม่เป็นวันอุบาทว์ โลกาวินาศก็ทำได้ในวันนั้น ถ้าวันพฤหัสบดีไม่ตรงกับวันดี ก็ต้องเลือกหาวันที่เป็น เดช, ศรี,มนตรี, หรือวันที่เป็นคู่มิตรคู่ธาตุแก่วันเกิดของเจ้าบ้านและตรงกับวันดีด้วยทำต่อไป ถ้าต้องการให้พระภูมิเข้มแข็งศักดิ์สิทธิ์ก็เลือกหาในวันอังคารที่ตรงกับวันขึ้นหรือแรม ๔ ค่ำเป็นวันตั้งศาล ดิถีควรใช้ดิถีนครคือวันขึ้นหรือแรม ๒, ๔, ๒, ๔, และ ๑๑ ค่ำ ส่วนเดือนควรใช้เดือน ๖, ๙, ๑๒, ๑, ๒ และเดือน ๔ อย่างเดียวกับเดือนปลูกเรือน

ทิศตั้งศาลพระภูมิ

ทิศสำหรับตั้งศาลพระภูมิท่านให้ตั้งทางทิศบูรพา อาคเนย์กับทิศอีสาน ๓ ทิศนี้ เนื่องจากเป็นทิศวัฒนะราศี เพราะดวงอาทิตย์สถิตขึ้นสูงสุดเป็นอุจโดยปริมาณตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ไป แล้วทวีขึ้นตามลำดับจนถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน เป็นเขตสูง ต่อมาจึงค่อยคล้อยต่ำลงหมดเขตวัฒนะราศีประมาณวันที่ ๒๗ กันยายน ของทุกปี ท่านจึงถือจุดสูงแห่งอุจของดวงอาทิตย์ ตั้งแต่ราศีมีนถึงราศีเมถุน ซึ่งตรงกับทิศทั้ง ๓ ดังกล่าวแล้ว เป็นทิศตั้งศาลนอกจากนี้นับว่าเป็นทิศทางหายนะ ถ้าไม่จำเป็นโดยแท้แล้ว ก็ไม่ควรใช้เป็นทิศตั้งศาล

อนึ่ง แม้จะมีที่ตั้งใน ๓ ทิศ ดังกล่าวแล้ว ก็ต้องหลบอย่าตั้งในทิศที่เป็นกาลกรรณีแก่วันเกิดของเจ้าบ้านอีกด้วย หน้าศาลควรผินไปสู่ทิศเดช, ศรี, หรือมนตรีของเจ้าบ้าน แต่อย่าให้ผินหน้าศาลตรงเข้าบ้านเรือนหรือตรงประตูบ้าน ทั้งนี้ควรดูให้เหมาะกับภูมิบ้านด้วย

ระยะตั้งศาลพระภูมิ

การตั้งศาลพระภูมินี้ต้องตั้งศาลโดยปักเสาลงที่พื้นดิน เพราะเป็นพระภูมิเจ้าที่ ไม่ใช่ตั้งศาลบนเรือนหรือบนหลังคาตึก ถ้าไม่มีที่ตั้งก็อย่าตั้งเสียดีกว่า บางตำราว่าตั้งทางทิศเหนือพออนุโลมได้ ส่วนสูงของศาลต้องกำหนดให้พื้นชานศาลหรือปลายเสาสูงเพียงตาของเจ้าบ้านหรือเลยขึ้นไป อย่าให้ต่ำลงมา ห้ามมิให้เงาศาลทับเรือนหรือเงาเรือนทับศาล ถ้าเคหสถานมีรั้วหรือกำแพงอย่าตั้งศาลให้ชิด ควรให้ห่างประมาณ ๑ วา หรือ ๑ เมตรเป็นอย่างน้อย พอให้เดินรอบศาลได้ พื้นที่ของพระภูมิกว้างยาวด้านละ ๑ เมตรก็พอ ปราบพื้นที่ให้แน่น ควรยกให้สูงจากพื้นเดิมประมาณ ๑ คืบ ตั้งเสาตรงกลางและต้องตั้งให้ตรงจริง ๆ ใช้พื้นโบกเทปูนได้เป็นดี ถ้าไม่มีที่จะตั้งศาลบนพื้นดินได้ และประสงค์จะตั้งศาลบนบ้านเรือนให้ได้ ก็ต้องตั้งแบบศาลเพียงตา คือศาลเทวดาชนิดไม่มีหลังคาไว้กลางแจ้งบนตึกหรือบ้านแทนศาลพระภูมิ

ข้อห้ามการตั้งศาลพระภูมิ

ห้ามตั้งในทิศเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของบ้าน

ห้ามตั้งในทิศกาลากิณีแก่วันเกิดเจ้าของบ้าน

ห้ามหันหน้าศาลเข้าสู่ทิศกาลากิณีแก่วันเกิดเจ้าของบ้าน

ห้ามหันหน้าศาลพระภูมิเข้าประตูบ้าน

ห้ามให้พื้นศาลอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของเจ้าของบ้าน

ห้ามเงาศาลทับบ้าน หรือ เงาบ้านทับศาล

ห้ามตั้งศาลในรัศมี 1 เมตรของกำแพง

ห้ามให้เสาศาลพระภูมิเอียง

ห้ามมีกิ่งไม้ยื่นมาอยู่เหนือศาล

การดูแลศาลพระภูมิ

ศาลพระภูมิควรตั้งอยู่ในที่แจ้ง อย่าให้ต้นไม้หรือกิ่งไม้ขึ้นปกคลุมศาล และควรรักษาความสะอาดที่ตัวศาลกับบริเวณรอบศาล อย่าให้มีสิ่งปฏิกูลและรกรุงรัง ควรหมั่นดูแลแผ้วถางกวาดทำให้สะอาดราบรื่นอยู่เสมอ เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้ และได้บูชาพระภูมิกับถวายเครื่องสังเวยดังกล่าวมาแล้วเป็นการถูกต้อง พระภูมิท่านจะช่วยพิทักษ์รักษาประสาทพรให้เจ้าบ้านมีความสุขความเจริญ ด้วยลาภยศสรรเสริญสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคางบริวารภิญโญภาพยิ่งขึ้นตลอดนิรันดรกาล ฯ

ตำนานพระภูมิ

ปฐมเหตุของพระภูมินั้น ควรจะได้ทราบประวัติและความเป็นไปของพระภูมิเสียก่อน คือเรื่องเดิมท่านกล่าวไว้ว่า ณ กาลครั้งหนึ่งมีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า ท้าวทศราช ครองกรุงพาลี (อาจเป็นกรุงพาศี คือกรุงพาราณสี) มีนางสันทาทุกข์เป็นมเหสี ครอบครองเมืองอยู่นานจนมีพระราชโอรส ๙ องค์ ทรงนามต่าง ๆ กัน

ครั้นราชโอรสเจริญวัย พระราชบิดาก็ตรัสใช้ให้ไปครองตามนครใหญ่น้อยสิ้นทั้ง ๙ องค์ และได้นามสมญาว่าพระภูมิทุกองค์ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญญาณอยู่ใต้ต้นนิโครธาอันไพศาล ครั้นเวลารัตติกาล พระภูมินามว่า กรุงพาลี ได้มาแสดงอภินิหารขับไล่พระโพธิสัตว์ไปให้พ้นจากธรณีพระโพธิสัตว์มีพระราชสุนทรด้วยดี ทรงขอพื้นที่ต่อเจ้ากรุงพาลีเพียงก้าวย่างพระบาทสำหรับเป็นที่บำเพ็ญญาณของพระองค์

เจ้ากรุงพาลีเห็นว่าเป็นที่ดินเพียงเล็กน้อยและหย่อนอภินิหารแล้ว จึงถวายอนุญาต แต่ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ทรงย่างเพียง ๒ ก้าวพระบาทก็พ้นประเทศเขตธรณีของเจ้ากรุงพาลีอันเป็นเหตุให้เจ้ากรุงพาลีต้องเดือดร้อน เพราะไม่มีที่จะอยู่อาศัย ต้องไปอยู่ยังนอกฟ้าป่าหิมพานต์ มิได้รับความสำราญดังก่อน จึงให้คนใช้ชื่อนายจันถี นายจันทิศ กับจ่าสพพระเชิงเรือน มาทูลขอพื้นที่คืนจากพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์มีพระเมตตาและแจ้งด้วยญาณกาลภายหน้าว่า เจ้ากรุงพาลีจะกลับตัวได้ จึงทรงอนุญาตคืนที่ดินให้ และให้บำเพ็ญตนอยู่ในทางสุจริตมั่นคงอยู่ในศีลธรรมตามนิยายพุทธศาสนามีมาเท่านี้

แต่เรื่องในนารายณ์สิบปางกล่าวไว้ว่าหนึ่ง ครั้งหนึ่งเจ้ากรุงพาลีประพฤติผิดขัตติยราชประเพณีมิได้อยู่ในทศพิธราชธรรม ยังความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ความนั้นทรงทราบถึงพระนารายณ์ จึงทรงจำแลงกายเป็นพราหมณ์น้อยเข้าไปขอพื้นที่เพียงก้าวเท้า เพื่อบำเพ็ญพรต

เจ้ากรุงพาลีไม่ทันตรองก่อนก็ลั่นวาจาอนุญาตให้แต่พระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์รู้แจ้งว่าเป็นอุบายมาจึงคัดค้าน แต่เจ้ากรุงพาลีมิอาจถอนคำสัตย์ได้ ก็หยิบพระเต้าจะหลั่งน้ำอุทิศให้ พระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์แผลงฤทธิ์เป็นเขียดน้อยเข้าไปอุดรูพระเต้าเสียมิให้น้ำไหลออก ข้างพราหมณ์น้อยรู้ที่อยู่ จึงเอาหญ้าคาแยงเข้าไปในรูพระเต้าถูกนัยน์ตาเขียดน้อยแตก

พระศุกร์ได้รับความเจ็บปวดก็กระโดดออกมา น้ำจึงหลั่งไหลลงสู่ธรณีเป็นการสำเร็จทาน บัดนั้นพราหมณ์น้อยก็แสดงอภินิหารเป็นนารายณ์สี่กร แผลงฤทธิ์ย่างเท้าเพียง ๒ ก้าว ก็พ้นขอบเขตจักรวาล เจ้ากรุงพาลีสิ้นปัญญาจะแก้ไข จึงทูลขอลุแก่โทษโปรดประทานคืน โดยให้สัตย์ว่าจะตั้งอยู่ในสุจริตธรรมต่อไป พระนารายณ์แจ้งในพระวิญญาณแล้วจึงทรงอนุญาต แต่นั้นมาเจ้ากรุงพาลีก็ครองตนอยู่ในศีลธรรม เรื่องเดิมมีมาดังนี้

พระภูมิ ๙ องค์ ครองที่ต่างๆ

  1. พระชัยมงคล ครองเคหะสถาน บ้านร้านเรือนโรงต่าง ๆ
  2. พระนครราช ครองค่าย ทวาร บันได ฯ
  3. พระเทวเถร ครองคอกสัตว์ ช้าง ม้า โค กระบือ ฯ
  4. พระชัยศพ ครองยุ้งฉาง คลังเสบียง ฯ
  5. พระคนธรรพ์ ครองโรงพิธีแต่งงาน เรือนหอบ่าวสาว ฯ
  6. พระธรรมโหรา ครองภูเขา ป่า นา และท้องทุ่ง ฯ
  7. พระวัยทัต ครองวัด โบสถ์วิหาร และที่ปูชนียสถาน
  8. พระธรรมิกราช ครองอุทยาน สวนพืชพรรณไม้ต่าง ๆ ฯ
  9. พระทาษธารา ครองลำน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงบาง ๆ

บริวาร ๓ คน ของพระภูมิ

  1. นายจันทิศ
  2. นายจันถี
  3. จ่าสพพระเชิงเรือน

ฉะนั้น เมื่อจะทำการใด ๆ เช่น การบวงสรวงสังเวย การตั้งศาลพระภูมิ การทำบุญอายุรอบใหญ่ ๆ การขึ้นบ้านใหม่ และการปลูกสร้างอาคาร ฯลฯ เหล่านี้ ควรต้องบวงสรวงสังเวยพระภูมิเพื่อแสดงความคารวะต่อท่านผู้เป็นเจ้าที่ด้วย และจะทำการในสถานที่อย่างใด ก็ต้องออกนามของพระภูมิองค์ซึ่งมีหน้าที่รักษาพื้นที่นั้น ๆ ให้ถูกต้องตามหน้าที่ อย่าให้ไขว้เขวผิดองค์กัน แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพระภูมิซึ่งรักษาเคหสถานบ้านเรือนคือพระชัยมงคลเท่านั้น ดังคำอธิบายต่อไป